สรุปรวมยอดแก่นของการปฏิบัติธรรม |
ในโลกยุคสหัสวรรษที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ผู้คนล้วนแก่งแย่งชิงดีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จทรัพย์สินเงินทอง และชื่อเสียงต่าง ๆ จนปราศจากซึ่งความสุขและสงบในจิตใจ อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งมิได้หมายความว่าให้เรานิ่ง ดูดายไม่ต่อสู้ชีวิตหรือฝักใฝ่แต่ความสงบจนไม่เป็นอันทำงานหรือใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าเราสามารถประสบความสำเร็จและมีความสุขได้เช่นเดียวกัน หากเราปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานสี่ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันประกอบด้วย กาย เวทนา จิต และธรรม กล่าวคือ กายคือการรู้เนื้อรู้ตัวในทุกอิริยาบถ เวทนาคือการรู้ทันการเกิดขึ้นของอารมณ์ทั้งสามคือ สุข ทุกข์ และอารมณ์เฉย จิตคือการรับรู้ถึงสภาวะของจิตที่เปลี่ยนแปลงไป และธรรมคือหลักสัจธรรมที่ช่วยให้เรามองโลกได้ตรงตามความเป็นจริงเช่น หลักไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นอกจากหลักพื้นฐานในการปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมหาสติปัฏฐานสี่ มีดังต่อไปนี้ 1) การสร้างสติและสมาธิเป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยให้เราละวางความเป็นตัวกูของกู ความยึดมั่นถือมั่น และกิเลสตัณหาอุปาทานลง ฉะนั้น แม้ว่าเราจะฝึกจนมีพลังสติที่ละเอียดและรวดเร็วขนาดไหนและมีพลังสมาธิที่เข้มแข็งปานใดก็ไม่สำคัญ เพราะหากเราไม่สามารถละลดปลดวางความเป็นตัวกูของกูและความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ในใจให้น้อยลงได้แล้วล่ะก็ การปฏิบัตินั้นก็ถือว่าล้มเหลว 2) ในมหาสติปัฏฐานสี่ ฐานกายหรือความรู้เนื้อรู้ตัวพรั่งพร้อมนับว่ามีความสำคัญมากเพราะถ้าเราใจลอยไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว เราจะไม่รับถึงรู้การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และสภาวะจิตใจ เราจึงพลาดโอกาสที่จะได้เห็นสัจธรรมจากสภาวะดังกล่าว ทำให้จิตยังคงยึดมั่นถือมั่นและเป็นทุกข์ต่อไป ในทางกลับกัน หากเรามีความรู้เนื้อรู้ตัวพรั่งพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ระดับสติปัญญาจะเพิ่มขึ้นทำให้เรารู้เหตุรู้ผลรู้ตนรู้ประมาณรู้เวลารู้สถานที่และรู้บุคคล 3) ผลแห่งการปฏิบัติดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่ปฏิบัติตามหลักศีล 5 อันได้แก่ ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ห้ามนอกใจคู่รักของตน ห้ามพูดจาโกหกส่อเสียดยุยงฟุ้งซ่านนินทา และห้ามดื่มสุราและเสพย์ของมึนเมาที่ทำให้ขาดสติ การผิดศีล 5 เป็นการสร้างอกุศลกรรม ทำให้สมาธิแตกสติสัมปชัญญะคลาดเคลื่อน 4) ฐานธรรมในมหาสติปัฏฐานสี่นั้นหมายรวมถึงการมีสัมมาทิฏฐิหรือความคิดที่ถูกต้อง กล่าวคือเราจะต้องหมั่นขจัดอกุศลจิตทั้งหลายเช่น ความอาฆาตพยาบาท ความอิจฉาริษยา ความคิดฟุ้งซ่านวิตกกังวล การชอบจับผิดผู้อื่น ความอยากที่ไม่มีวันสิ้นสุด และความอวดดีถือเนื้อถือตัว เป็นต้น 5) การรู้เนื้อรู้ตัวในทุกอิริยาบถหรือสติฐานกายนั้นมีไว้เพื่อกำจัดความฟุ้งซ่านและวิตกกังวลถึงเรื่องในอนาคต และความโกรธเกลียดเศร้าหมองถึงเรื่องในอดีตซึ่งก็ยังถือว่าเป็นภาคสมถะคือเป็นการทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ แต่การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ความคิดและสภาวะจิตในปัจจุบัน จนเห็นการเกิดดับ (อนิจจัง) เห็นว่าเป็นทุกข์ถ้าเรายึดมั่นถือมั่น (ทุกขัง) และเห็นว่าไม่มีตัวตนเกิดขึ้นได้เองตามเหตุและปัจจัยไม่สามารถบังคับได้ (อนัตตา) จึงจะถือว่าเป็นภาควิปัสสนา 6) วินาทีที่เจริญสติ ความทุกข์จะไม่ครอบงำจิตใจ 7) เมื่อเรามีสติที่ชัดเจนและต่อเนื่อง นิวรณ์ 5 จะหายหมด ต่อจากนั้นเมื่อจิตสงบนาน ๆ กลุ่มความคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจมาเป็นเวลานานเช่น เรื่องเศร้าหมองหรือความเจ็บแค้นในอดีตที่เรายังปล่อยวางไม่ได้จะโผล่ขึ้นมาในจิตใจเป็นระลอกๆ เราจะเห็นความแปรปรวนของจิตและความทุกข์ที่เกิดจากการยึดมั่นถือมั่น ความโลภความโกรธความหลง และอกุศลจิตความชั่วร้ายที่เกิดจากการปรุงแต่ง แม้จะพยายามจดจ่ออยู่กับฐานกายเท่าไรความคิดนั้นก็ยังคงผุดขึ้นเป็นระยะๆ สิ่งเดียวที่จะใช้รับมือกับอกุศลจิตที่นอนเนื่องในจิตใจได้ก็คือ กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สรรพสิ่งในโลกล้วนเกิด ดับ และเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ายังทุกข์อยู่หรือมีความแปรปรวนในจิตใจอย่างมากให้ใช้วิธีการชะลอความคิดระลอกใหม่โดยการจดจ่อที่ร่างกายความรู้เนื้อรู้ตัวและลมหายใจเข้าออก ร่วมกับการหมั่นพิจารณาให้เห็นกฎไตรลักษณ์เพื่อแก้ไขความคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิในจิตใจ บทความโดย ดร.บุญชัย โกศลธนากุล |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น