บทความที่นำเสนอสรุปประเด็นจากหนังสือเรื่อง Leadership Gold: Lessons I've Learned from a Lifetime of Leading แต่งโดย John C. Maxwell ผู้แต่งได้นำเสนอวิธีการปฏิบัติตัวและแนวคิดที่ผู้นำพึงจะมี
มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้
1. ผู้นำที่ดีต้องรู้จักบริหารจิตใจตนเอง ในที่นี้คือ
- มีความอ่อนน้อมถ่อมตน พูดจาสุภาพ มีบุคลิกที่น่าเชื่อถือและเป็นมิตร น่าเคารพ รู้จักผิดชอบชั่วดี มีความยุติธรรม รู้จักรักษาคำพูด ไม่อวดเบ่งหรือบ้าอำนาจ ผู้นำที่ดีไม่จำเป็นต้องแสดงอำนาจให้ลูกน้องเคารพยำเกรง เพราะถ้าลูกน้องเกิดความหวาดกลัว เขาจะไม่กล้าบอกข้อมูลหรือเสนอความคิดเห็นใด ๆ ซึ่งอาจทำให้เราพลาดข้อมูลที่ดีที่สุดไป เพราะผู้แต่งเชื่อว่าลูกน้องเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าที่ดีที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกน้องที่ต้องพบปะลูกค้าโดยตรง
- พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้อง และอย่าทำในสิ่งที่เราจะต้องเสียใจในภายหลังเช่น การระเบิดอารมณ์ใส่ลูกน้องเพียงเพื่อระบายความเคร่งเครียดและอึดอัด
- มีความอดทนอดกลั้น หัวหน้าที่ดีจะต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราเช่น ในการสั่งงานจะต้องรู้จักมองดูสถานการณ์ที่เป็นอยู่ มองดูลูกน้องว่าตามทันและเข้าใจในสิ่งที่เราอธิบายหรือไม่ และรู้จักมองกลับว่าวิธีการที่เรามอบหมายงานนั้นมันถูกต้องและเหมาะสมแล้วหรือ และถ้าเราเป็นเขา เราจะทำได้ไหมในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น นอกจากนั้น ผู้นำที่ดีจะต้องเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นและคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นด้วย
- รับผิดชอบในการกระทำและการตัดสินใจของตนเองเช่น ในกรณีที่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้นำที่ดีจะต้องรับผิดชอบทุกอย่าง แม้ว่าความผิดพลาดดังกล่าวจะเกิดจากลูกน้องก็ตาม เพราะความผิดพลาดของลูกน้องก็คือ ความผิดพลาดของตัวผู้นำเองที่มองไม่ออกว่า ควรเลือกลูกน้องคนใดมารับผิดชอบงานดังกล่าว หรือในกรณีที่ไม่มีลูกน้องให้เลือกมากนัก ทำให้จำเป็นต้องมอบหมายงานให้บุคคลดังกล่าว ผู้นำเองก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้ข้อจำกัดนี้เพื่อปัดความรับผิดชอบ เพราะตัวผู้นำเองย่อมมีสิทธิที่จะติดตามงานที่มอบหมายไปแล้วได้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น
- รู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเองและองค์กร
2. วิธีการวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการทำงานของหัวหน้า
วิธีนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการทำงานของตนเองในฐานะที่เป็นหัวหน้าได้ด้วย วิธีการดังกล่าวมีดังนี้
- สังเกตว่าลูกน้องมีความสามัคคี ปรองดอง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันหรือไม่ หรือทะเลาะเบาะแว้งปัดแข้งปัดขากันไม่เว้นแต่ละวัน ผู้แต่งกล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างในกรณีที่สองแสดงว่า หัวหน้ามีการบริหารที่ผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว
- เมื่อหัวหน้าสั่งงานแล้ว ลูกน้องทำตามหรือไม่ ถ้าไม่ทำตาม แสดงว่าเริ่มมีบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้นเช่น หัวหน้าอาจจะเลือกใช้คนผิด กลยุทธที่มอบหมายให้ลูกน้องอาจนำไปใช้ไม่ได้ในสถานการณ์จริง หรือหัวหน้าไม่มีการตามงานอย่างจริงจัง เป็นต้น
- ลูกน้องมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปตามที่เราต้องการหรือไม่เช่น ถ้าองค์กรเน้นการทำงานเป็นทีม ลูกน้องก็ต้องมีการพัฒนาเป็นไปตามแนวทางดังกล่าวด้วย
- ลูกน้องมีการพัฒนาทางด้านสติปัญญาและทางด้านคุณธรรมหรือไม่ ในที่นี้คือ ลูกน้องเก่งขึ้นและเป็นคนดีขึ้นหรือไม่ เพราะผู้แต่งเชื่อว่า การสกัดกั้นลูกน้องจากการคดโกงและฉ้อฉลนั้น นอกจากจะใช้วิธีการวางระเบียบและข้อบังคับในองค์กรให้รัดกุมและง่ายต่อการตรวจสอบแล้ว การพยายามปลูกฝังคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพจิตใจของลูกน้องให้รู้จักผิดชอบชั่วดีก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้นำจะต้องให้ความสำคัญ และสิ่งนี้ยังใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพในการบริหารงานของผู้นำได้อีกด้วยเช่น ถ้าผู้นำยิ่งบริหารแล้วลูกน้องยิ่งโกงกันมากขึ้น แสดงว่าตัวหัวหน้ามีความไม่ชอบมาพากล หรือไม่ก็มีความสามารถไม่พอที่จะจูงใจให้ลูกน้องมีความรักในองค์กรรักในอาชีพที่ตนเองทำ
3. เป็นผู้ฟังที่ดี
การเป็นผู้ฟังที่ดีนอกจากจะแสดงถึงการให้เกียรติอีกฝ่ายแล้ว การฟังยังช่วยให้เราได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน ซึ่งสามารถนำไปช่วยในการบริหารงานได้เป็นอย่างดี เพราะการจะบริหารงานให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องอาศัยข้อมูลจากตำราเกี่ยวการบริหารจัดการ ประสบการณ์จริงในการทำงาน และความร่วมมือที่ดีจากเพื่อนร่วมงาน
4. ทำงานในสิ่งที่เรารักและมีความถนัด
สิ่งที่จะบอกได้ว่า เราได้ทำงานในสิ่งที่เราชอบและมีความถนัดหรือไม่คือ เราจะต้องมีความสุข ไม่เหนื่อย และไม่รู้สึกว่าเรากำลังทำงานอยู่
5. รู้จักมองหาจุดแข็งของลูกน้อง
ผู้นำที่ดีจะต้องรู้จักพัฒนาจุดแข็งของลูกน้องเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร ส่วนจุดอ่อนของลูกน้องนั้น ผู้นำที่ดีจะต้องคอยตักเตือนและแนะนำไม่ให้ลูกน้องเพลี่ยงพล้ำหรือทำผิดพลาดเพราะจุดอ่อนดังกล่าวเช่น ลูกน้องที่มีความสามารถในการทำงานดีเยี่ยมแต่มีมนุษย์สัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานติดลบ ในฐานะหัวหน้า เราจะต้องชี้ให้ลูกน้องเห็นถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากลักษณะนิสัยดังกล่าว เป็นต้น ผู้แต่งได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเลือกที่จะมอบหมายงานให้ลูกน้องนั้นนอกจากจะดูที่จุดอ่อนและจุดแข็งของลูกน้องให้เหมาะสมกับงานแล้ว หัวหน้าจะต้องดูที่ความมุ่งมั่น ตั้งใจ และความสมัครใจในการทำงานนั้น ๆ ของลูกน้องด้วย เพราะถึงแม้ว่าลูกน้องจะเก่งแค่ไหน แต่ถ้าใจเขาไม่อยากทำ งานทุกอย่างจะล้มระเนระนาดอย่างไม่เป็นท่า หรือไม่ก็ไม่มีความก้าวหน้าใด ๆ ทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
อย่างไรก็ตาม ถ้าตัวเราเองถูกบังคับให้ทำงานที่ตัวเองไม่ชอบหรือไม่ถนัด ถ้าเลือกไม่ได้จริง ๆ
เราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะปล่อยให้หายนะเกิดขึ้นโดยไม่สนใจใด ๆ เพราะถือว่าเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าที่ยัดเยียดให้เราทำงานชิ้นนี้เอง บุคคลที่คิดเช่นนี้จะไต่เต้าขึ้นเป็นผู้นำไม่ได้ เพราะจิตใจคอยแต่จะปัดความรับผิดชอบให้ผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ผู้แต่งจึงแนะนำว่า ถ้าเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่บีบบังคับเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ เราควรเปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่ว่า เมื่อรับงานมาแล้วเราต้องทำอย่างสุดความสามารถ และตระหนักถึงข้อจำกัดของตัวเอง สิ่งไหนทำไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องหาคนช่วยเช่นปรึกษาหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน อย่ากลัวเสียหน้าเพราะงานเป็นเรื่องของส่วนรวม จงอย่าเอาความเป็นตัวกูของกูมาทำลายความก้าวหน้าขององค์กร
6. มีความสามารถในการจัดการประชุม ในที่นี้
6.1 ผู้นำที่ดีจะต้องชี้แจงให้ลูกน้องทราบก่อน ดังนี้
- หากจะเสนอความคิดเห็นหรือแผนงานใด ๆ จะต้องมีการพูดคุยกันนอกรอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นไปได้ในสิ่งที่จะเสนอเสียก่อนที่จะเข้าประชุม
- วาระการประชุมแต่ละครั้งคืออะไร ประชุมไปเพื่ออะไร และเราจะได้อะไรบ้างจากการประชุมครั้งนี้
6.2 ผู้นำที่ดีจะต้องสามารถจับประเด็นและสรุปได้อย่างชัดเจนเป็นข้อ ๆ ในระยะเวลาไม่นานนัก และต้องรู้จักสะกัดกั้นลูกน้องพวกวิตกจริตที่ชอบพูดนอกประเด็นหรือเน้นแต่เรื่องปัญหามากจนเกินไป ทำให้การประชุมยืดเย้อเสียเวลาในการทำงาน
6.3 ผู้นำที่ดีจะต้องหมั่นตามงาน อย่าคิดว่าสั่งแล้วลูกน้องจะต้องทำได้ เสมอไป เพราะบางครั้งลูกน้องเองก็ไม่รู้ว่า เขาทำผิดตรงไหนและควรแก้ไขอย่างไร และข้อดีของการตามงานคือ ช่วยประหยัดเวลาและทรัพยากรในการตามแก้ไขงานหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น
6.4 ผู้นำที่ดีจะต้องสามารถสร้างบรรยากาศในการทำงานเป็นทีมให้เกิดขึ้นในที่ประชุมให้ได้
บทความโดย
ดร.บุญชัย โกศลธนากุล
ธุรกิจ อารากอนเวิลด์54
ช่องทางสู่อิสระภาพทางการเงินและเวลา
ที่ทันสมัยที่สุด!!! ในเวลานี้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น