วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

ปลุกพลังแห่งความรู้สึกเพื่อเป็นนายเหนือความคิด




ปลุกพลังแห่งความรู้สึกเพื่อเป็นนายเหนือความคิด

บทความนี้สรุปประเด็นจากหนังสือเรื่อง Intuition แต่งโดย Osho ผู้แต่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน1,000 บุคคลสำคัญของโลก ผู้กำหนดแนวคิดแก่มหาชนในช่วงศตวรรษที่ 20 และยังได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบบุคคลสำคัญระดับโลกในกลุ่มของมหาตมะคานธี เนรู และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าผู้แต่งจะเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 1990 คำสอนของท่านก็ยังถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกจวบจนถึงปัจจุบัน ผู้แต่งเชื่อว่า ลำพังพลังแห่งความคิดอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยความรู้สึกซึ่งเป็นการแสดงออกของพลังจิตเป็นตัวช่วยนำทางชีวิตและกลั่นกรองความคิดให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ผู้แต่งได้อธิบายถึงพลังแห่งความรู้สึกดังกล่าว มีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้


มนุษย์เราทุกคนมีองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ 3 ประการด้วยกันคือ


1) ใจ เป็นตัวก่อให้เกิดพลังแห่งความรู้สึก
ความรู้สึกเกิดจากการทำงานของสมองข้างขวาซึ่งเป็นประตูไปสู่พลังจิต พลังนี้จะช่วยบอกเราว่าสิ่งไหนใช่หรือไม่ใช่ สิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ เราจะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และรู้จักคิดนอกกรอบ

2) สมอง เป็นตัวก่อให้เกิดพลังแห่งความคิดความคิดเกิดจากการทำงานของสมองข้างซ้ายซึ่งส่งผลให้เราคิดอย่างมีเหตุมีผลตามข้อมูลหรือความเชื่อที่เราได้รับการอบรมสั่งสอน จากการศึกษาเล่าเรียน จากประสบการณ์ในอดีต และจากค่านิยมของสังคม ระบบความคิดจึงมีข้อจำกัดเมื่อใดก็ตามที่เราประสบกับสิ่งที่นอกเหนือสิ่งที่เรารู้มา เราจะงุนงงและสับสน คิดเท่าไรก็คิดไม่ออกหรือไม่ก็คิดผิดทำผิดเรื่อยไป

3) ร่างกาย เป็นตัวก่อให้เกิดสัญชาตญาณ สัญชาตญาณคือการทำงานตามธรรมชาติของมนุษย์เช่น การเต้นของหัวใจ การย่อยอาหาร และการไหลเวียนโลหิต เป็นต้น สัญชาตญาณทำงานอย่างซื่อสัตย์และเที่ยงตรงแต่มนุษย์มักใช้พลังแห่งความคิดทำลายระบบการทำงานของร่างกายโดยที่เราไม่รู้ตัวเช่น เมื่อถึงเวลาที่ต้องพักผ่อนก็ไม่ยอมนอนแต่กลับกินกาแฟแทน เพราะคิดว่าไม่เป็นไรแต่ในระยะยาวสุขภาพก็จะเสื่อมโทรม เป็นต้น


ลักษณะของความคิด
ความคิดจะมีการตีความเป็นสองลักษณะตรงข้ามกันเช่น ถูก-ผิด ดี-ชั่ว ชอบ-ไม่ชอบ สวย-ไม่สวย เป็นต้น ความคิดจะเกิดขึ้นตลอดเวลาและมักเป็นไปในแง่ลบ ความคิดจะวิ่งสลับไปมาระหว่างเรื่องในอดีตและเรื่องในอนาคต ถ้าเราเชื่อความคิดเราจะมีแต่ความทุกข์เพราะจิตจะไม่ว่าง คอยครุ่นคิดถึงเรื่องอดีตซึ่งมักเป็นเรื่องในแง่ลบหรือกังวลถึงเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง


ลักษณะของความรู้สึก
พลังแห่งความรู้สึกมีลักษณะคือ สงบ ว่องไว รวดเร็ว และเบิกบาน มีแต่การรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีการเติมสีปรุงแต่ง ไม่มีความสงสัย ไม่มีความคิด ไม่มีการตัดสินว่าถูกหรือผิด ความรู้สึกจะเกิด ณ เวลาปัจจุบัน


คุณประโยชน์ของพลังแห่งความรู้สึก
1. เป็นเข็มทิศช่วยนำทางชีวิต ทำให้เรารู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ รู้ว่าเราเกิดมาทำไมและควรจะทำอะไรต่อไปในชีวิต
2. ช่วยให้เรามีความสุข
3. ช่วยให้เราอ่านคนได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
4. รู้ผิดชอบชั่วดี รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้เวลา รู้สถานที่และรู้บุคคล


วิธีสร้างพลังแห่งความรู้สึก

1. เห็นโทษของความคิดว่ามันไม่ได้ช่วยให้เรามีความสุขหรือเจริญรุ่งเรืองเท่าไรนัก

- พยายามกำจัดความคิดที่ผิดออกจากใจเช่น หยุดเปรียบเทียบ หยุดจับผิด หยุดอิจฉาริษยา หรือลอกเลียนแบบผู้อื่น เราก็เป็นเรา เค้าก็เป็นเค้า หากเราอยากเป็นอะไรก็จงสร้างเหตุปัจจัยขึ้นมา

- ทิ้งระบบความเชื่อต่าง ๆ ที่ถูกสั่งสอนมาทั้งหมด ทำใจสบาย ๆ ทำใจให้เหมือนเด็ก

- อยู่กับปัจจุบัน อดีตที่ผ่านไปแล้วให้มันจบไปและอย่าคิดเกินหรือเป็นกังวลถึงอนาคตจนเกินเหตุ

2. ฝึกสร้างความรู้สึก

- หยุดคิด หยุดหาเหตุหาผล รับรู้และไม่คิดต่อ และพยายามรู้สึกในทุกอิริยาบถ รู้เนื้อรู้ตัว ตั้งใจมอง ตั้งใจฟัง ตั้งใจพูด

- หัดมองและหัดฟังมากกว่าหัดพูดหัดคิด

- หัดถามความรู้สึกตัวเองบ่อย ๆ ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร

3. ทำความสงบด้วยวิธีอะไรก็ได้เช่น สวดมนต์หรือทำสมาธิ ในระหว่างที่ทำเราจะต้องมีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา

4. ฝึกประสาทสัมผัสทั้งห้าและทำความรู้สึกถึงกล้ามเนื้อและกระดูก เมื่อร่างกายมีการขยับหรือสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ในทุกอิริยาบถ

5. หาเวลาไปสัมผัสธรรมชาติ หัดมองสุมทุมพุ่มไม้และสิ่งแวดล้อมรอบตัวบ้าง

6. ฝึกทำตัวเป็นคนดี พูดดี ทำดี คิดดี เห็นอกเห็นใจและมีน้ำใจต่อผู้อื่น

7. หัดปล่อยวาง อย่าบังคับตัวเองมากนัก ทำทุกอย่างให้อยู่ในทางสายกลาง เลิกเก็บกดเมื่อรู้สึกอย่างไรก็ยอมรับและรับรู้ตามความเป็นจริง สบาย ๆ แต่มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ทุกขณะจิต

8. สร้างระบบความคิดที่ถูกต้องในจิตใจ

- ตั้งจิตว่าเกิดมาแล้วต้องมีความสุข ความสุขที่เกิดจากข้างในจากสภาวะจิตที่สงบ เบาสบาย และเยือกเย็นนั้น เราสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเอง การรอคอยความสุขจากวัตถุสิ่งของภายนอกหรือจากบุคคลอื่น เช่น ฉันจะมีความสุขถ้าฉันมีบ้านมีรถหรือได้ในสิ่งที่ฉันต้องการ ฉันจะมีความสุขถ้าฉันมีเจ้านายที่ดีกว่านี้ หรือฉันจะไม่มีความสุขถ้าคนรอบข้างฉันยังไม่ประสบความสำเร็จ การคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ผิดเพราะเรากำลังจะฝากความสุขฝากชีวิตของเราไว้กับปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งสิ่งที่เราปรารถนา มันอาจจะไม่ได้ทำให้เรามีความสุขอย่างที่เราหวังก็ได้

- พยายามขจัดความเป็นตัวกูของกูซึ่งแสดงให้เห็นได้จากความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความอาฆาตพยาบาท ความอยากมีอยากเป็นอยากได้ ความเบื่อหน่ายเซ็งชีวิต เป็นต้น

- โลภโมโทสันให้น้อยลง พอใจในสิ่งที่ตนมี

- เจริญเมตตา จิตที่เมตตาจะเบิกบาน ผ่องใสและว่องไว ทำให้สร้างพลังแห่งความรู้สึกได้ ง่าย

- พยายามรักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ การทำผิดศีลธรรมจะทำให้สติแตกสมาธิกระเจิง ความรู้สึกก็ย่อมจะไม่เกิด

- หัดเจริญมรณานุสติ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะต้องจากโลกนี้ไปเมื่อไร ฉะนั้น เราควรรีบทำในสิ่งที่เป็นเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สิ่งที่ไม่จำเป็นและไร้สาระก็ให้ปล่อยวางเสีย


บทความโดย
ดร.บุญชัย โกศลธนากุล



ธุรกิจ อารากอนเวิลด์54
ช่องทางสู่อิสระภาพทางการเงินและเวลา
ที่ทันสมัยที่สุด!!! ในเวลานี้...
เน็ตเวิร์คมาร์เก็ตติ้ง ที่รวม3เทรนด์แห่งศตวรรษ เป็นหนึ่งเดียว..คลิ๊ก!!!




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น